ITPE คืออะไร ??? ปัจจุบันเป็นยุคที่ IT เข้าไปมีบทบาทสำคัญในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคการศึกษาฯ ซึ่ง IT มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณบุคลากร IT ในตลาดแรงงานนั้น ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เราขาดแคลนผู้ที่มีพื้นฐานและความรอบรู้ด้าน IT อีกมาก แม้ว่าจะพยายามใช้ระบบการศึกษาเข้ามาสนับสนุน แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาคนเพื่อให้ทันต่อสังคมยุค IT ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำเป็นต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อมรับกับการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน (AEC 2015) ที่กำลังจะมาถึงในระยะอันใกล้นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันวิทยาการ สวทช. (NSTDA Academy) ผู้ดำเนินการโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที หรือ Information Technology Professionals Examination: ITPE ได้ร่วมมือกันระหว่างกลุ่มภาคี 7 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนม่า มองโกเลีย และประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Information TechnologyProfessionals Examination Council: ITPEC ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวฯ เป็นหนึ่งในมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค โดยจะร่วมกันจัดสอบเพื่อวัดระดับความรู้และทักษะพื้นฐานด้านไอทีแบบไม่อิงผลิตภัณฑ์ใดๆ การสอบนี้เหมาะสำหรับชาวไอที นักวิเคราะห์ทุกสาขา นักวิชาการ อีกทั้งในกลุ่มตำแหน่งอื่น ที่สนใจสอบเทียบความรู้ด้านไอทีของตนเองอีกด้วย
ITPE
ITPE เป็นอีกแนวทาง เพื่อปรับใช้เป็นเกณฑ์ประเมิน IT Competencies บุคลากรสายงาน IT และ Non-IT รวมทั้งใช้ประกอบการสรรหา คัดเลือก เลื่อนขั้น ปรับตำแหน่ง ของบุคลากร อีกทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการเติมเต็มช่องว่าง (Gap Filling) ด้านการพัฒนาบุคลากรไอซีที ด้านการประเมิน IT Competency ของบุคลากร ซึ่งมาตรฐานข้อสอบ ITPE นั้น ใช้วัดทักษะของบุคลากรทางด้าน IT ได้ครอบคลุมในหลายๆ มิติ เช่น ด้านกลยุทธ์ ด้านการบริหารจัดการ และด้านเทคโนโลยี นอกจากนั้น ผลการทดสอบของ ITPE ยังสามารถนำมาช่วยทำ Competency เพื่อวางแผนในการเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้าน IT ขององค์กรได้อีก ซึ่งบุคลากรคนใดมีจุดอ่อนในมิติไหน ก็จะเน้นการพัฒนาในมิตินั้นๆ ซึ่งจะช่วยลดช่องว่าง และเสริมสร้างบุคลากรทางด้าน IT ขององค์กรได้เป็นอย่างดี
วัตถุประสงค์
1. ส่งเสริมให้ผู้มีความรู้ความสามารถด้านไอทีได้รับโอกาสในการเข้าทำงานและ เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงานด้านไอทีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2. สร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสายไอที ทั้งในระดับหน่วยงานและระดับประเทศ
3. ส่งเสริมและผลักดันให้บุคลากรสายไอทีได้ใฝ่หาความรู้และยกระดับทักษะของตนเองให้ได้มาตรฐานและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
4. ให้สถาบันการศึกษาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
5. ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณา สรรหา คัดเลือก ปรับ/เลื่อนตำแหน่งบุคลากรสายไอที ให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของแต่ละบุคคล
ประโยชน์ที่ได้รับจากการสอบ
ระดับบุคคล
• ได้รับใบประกาศนียบัตรระดับภูมิภาครับรองโดยภาคีสมาชิก ITPEC
• ได้รับสิทธิพิเศษในการพิจารณาคัดเลือกเข้ารับทุนฝึกอบรมของประเทศญี่ปุ่น
• สามารถรับงาน Outsource ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นคุณสมบัติประกอบการขอ Work Permit ทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้
• เพิ่มรับโอกาสใหม่ในการรับงานจากประเทศในภาคีสมาชิก ITPEC ได้
• เป็นโอกาสสำหรับบุคลากรที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษาในสายไอทีมาก่อน แต่มีทักษะและความสามารถได้ปรับวุฒิให้ตรงตามความสามารถ
• เป็นการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่องให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน\
ระดับองค์กร
• ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในการแข่งขันทางธุรกิจที่ยั่งยืน
• ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาคัดเลือก ปรับ/เลื่อนตำแหน่งบุคลากรด้านไอที
• ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสายไอที
• ใช้เป็นแนวทางการจัดทำ IT Competencies Assessment for Corporate Human Resourc
ระดับประเทศ
• บุคลากรไอซีทีของไทยมีศักยภาพ มีความสามารถแข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ
• การขยายตัวและส่งเสริมมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
• เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นภาคีหนึ่งในประชาคมอาเซียน ปี 2558