กสทช.ระดมความเห็นภาคเอกชน แก้ปัญหาการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมให้รวดเร็วขึ้นจากเดิมที่ใช้เวลานานกว่า 2 เดือน
จากการที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเพื่อสะท้อนความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค และแนวทางปฏิบัติของภาคอุตสาหกรรม เพื่อปรับปรุงแก้ไข ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ตามที่คณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคมเสนอว่า ควรปรับปรุงแก้ไขประกาศฯนี้ ซึ่งตัวแทนจากผู้ที่มีส่วนได้เสียจำนวน 15 รายได้เข้าร่วมระดมความเห็นเกี่ยวกับการบริหารเลขหมายโทรคมนาคม และการพิจารณาให้ความเห็นต่อค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม อาทิ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)
นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมาย ระบุว่าการรับฟังความเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการ หรือจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย 15 บริษัท รวมถึงค่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่าย ประกาศฉบับนี้ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ซึ่งนานกว่า 4 ปี แล้ว พบว่า ขั้นตอนตั้งแต่รับเรื่องจากเอกชนเพื่อขอเลขหมาย จนถึงขั้นเสนอเข้าสู่บอร์ดกสทช.ให้พิจารณา ต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือน และเพื่อรองรับต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่จะเข้าสู่การประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี และรองรับการเกิดขึ้นของระบบ 4 จี หรือ แอลทีอีในอนาคตด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเลขหมายอยู่ในระบบประมาณ 90 ล้านเลขหมาย แต่หากรวมเลขหมายที่อยู่ในกระบวนการจัดสรรจะมีรวมถึง 100 ล้านเลขหมาย
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความเห็นแล้ว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ จะประชุมพิจารณาเพื่อกำหนดหลักการในการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ ฉบับนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ จากนั้นก็จะเสนอให้กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้ความเห็นชอบแล้วจึงจะยกร่างประกาศฯ
ข้อมูลจาก เดลินิวส์