การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และปัจจุบันสื่อการเรียนรู้ถูกนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นสื่อแบบข้อความ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว สื่อมัลติมีเดีย ที่บรรจุอยู่ในแผ่นซีดี หรือเผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ด้วยรูปแบบโปรแกรมต่าง ๆ ที่พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สำหรับการใช้งานในเรื่องนั้น ๆ
และที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีก็เช่นเดียวกันได้นำการใช้งานโปรแกรม Campus Language Training ซึ่งเป็นคู่มือเรียนรู้สำหรับนักศึกษา สำหรับเติมเต็มความรู้ด้านภาษาอังกฤษให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากพบปัญหานักศึกษาไม่อยากเข้าเรียนในวิชาภาษาอังกฤษ เพราะอายที่ตนเองไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้
อ.พงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา ผอ.สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายว่า โปรแกรมดังกล่าวเป็นคู่มือสอนภาษาอังกฤษสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือเรียกว่าการเรียนภาษาด้วยระบบอีเลิร์นนิ่ง
เลือกให้นักศึกษาสามารถดาวน์โหลดไปใช้ เพราะต้องการให้นักศึกษาได้มีความรู้ความสามารถในการพูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนปี 2558 แล้ว ดังนั้นการปูพื้นฐานด้านภาษาให้มีความเข้มแข็ง เชื่อว่าเด็กของเราจะสู่เวทีโลกได้ไม่ยากอย่างแน่นอน
สำหรับคู่มือดังกล่าวเรียกว่า Campus Language Training หรือ CLT เป็นโปรแกรมการใช้เรียนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษา สร้างการใช้งานรูปแบบ username และ password ซึ่งมีบทเรียนหน้าต่างโปรแกรม Course Window และหน้าต่าง Intelliplan เพื่อบริหารจัดการเนื้อหาบทเรียนของผู้เรียน ในส่วนนี้ผู้เรียนสามารถดูบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้ทำไป พร้อมผลคะแนนที่ได้ Course Window ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าต้องการเรียนบทใด และทำแบบฝึกหัดให้สอดคล้องกับบทเรียนนั้น โดยมีคำสั่ง Video Tutor คอยช่วยเหลือ และให้คำแนะนำเทคนิคต่าง ๆ สำหรับการใช้โปรแกรมดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมคำสั่งเสียงด้วย Voice Pilot ผู้เรียนสามารถใช้คำสั่งเสียง สังเคราะห์เสียงการอ่านของตัวเองได้เป็นอย่างดี รวมถึงนักศึกษาสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมใส่เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา เพื่อเรียนรู้ด้วยตนเองได้ด้วย
“โปรแกรมดังกล่าวเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง หลังจากนักศึกษาเรียนและทำแบบฝึกหัดในโปรแกรมดังกล่าวเสร็จ ระบบจะออนไลน์ข้อมูลส่งตรงไปยังรหัสของอาจารย์ผู้สอน หลังจากนั้นอาจารย์ก็จะให้คะแนนเป็นรายบุคคล ซึ่งโปรแกรมนี้มีการใช้งานมาแล้ว 1 ภาคเรียนกับนักศึกษาภาควิชาภาษาอังกฤษ และในภาคเรียนที่ 2 จะขยายการใช้โปรแกรมนี้ในทุกคณะสาขาวิชาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผลตอบรับดีและนักศึกษามีพัฒนาการด้านภาษาอังกฤษดีขึ้น นักศึกษาสามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นกว่าการเรียนแบบรูปแบบเดิม ที่บางครั้งก็อายเพื่อนหรือครูผู้สอนที่ตัวเราจะฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้ถือได้ว่าคู่มือดังกล่าวเป็นบทเรียนออนไลน์อีกรูปแบบหนึ่งที่จะมาช่วยเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียน และการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่ง ในลักษณะนี้ไม่ใช่มาแทนที่ครูผู้สอนแต่จะเป็นตัวช่วยอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น” อ.พงศ์พิชญ์ กล่าว
นับได้ว่าบทเรียนออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงเยาวชนสู่โลกไซเบอร์ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในการก้าวสู่ความเป็นสากล ดังนั้นการสรรหาบทเรียน อีเลิร์นนิ่ง ที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนการสอนก็เท่ากับการสรรหาหนังสือมาให้ผู้เรียนเรียนนั่นเอง.
อุทิตา รัตนภักดี