ในปัจจุบันผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหลายจะมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้สิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้เปรียบได้ราวกับยามรักษาการณ์ให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณจากการรุกรานของสิ่งไม่พึงประสงค์อย่างไวรัสคอมพิวเตอร์ สปายแวร์ ฯลฯ เป็นต้น แต่เนื่องจากว่าไม่มีแอนตี้ไวรัสตัวไหนจะสามารถป้องกันไวรัสได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์สุดรักสุดหวงของเราแล้วการลงแอนตี้ไวรัสหลาย ๆ ชนิดในเครื่องของเราเป็นทางเลือกที่ดีหรือเปล่าหนอ?
ไวรัสคอมพิวเตอร์คืออะไรบางท่านอาจจะรู้กันแล้ว บางท่านอาจจะไม่รู้ หรือรู้บางเล็กน้อย ดังนั้นผมขออธิบายความหมายของไวรัสคอมพิวเตอร์เสียก่อนนะครับ
ไวรัสคอมพิวเตอร์ (Virus Computer) หมายถึง โปรแกรมชนิดหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการก่อกวน ทำให้เกิดความเสียหาย เช่น ทำลายข้อมูล, ไม่สามารถใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ได้หรือทำให้การทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ช้าลง
ประเภทของไวรัสคอมพิวเตอร์แบ่งออกได้ดังนี้
- บูตไวรัส (Boot Virus) คือ ไวรัสคอมพิวเตอร์ที่จะแพร่เข้าสู่เป้าหมายในระหว่างเริ่มทำการบูตเครื่อง โดยไวรัสชนิดนี้จะไปฝังตัวอยู่ที่ส่วนหัวสุดของฮาร์ดดิสที่เป็นบูตมาสเตอร์เรคคอร์ด (master boot record) จากนั้นก็จะโหลดตัวเองเข้าสู่หน่วยความจำก่อนระบบปฏิบัติการจะเริ่มทำงาน ทำให้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเครื่องจึงไม่สามารถทำงานได้
- ไฟล์ไวรัส (File Virus) คือ ไฟล์ไวรัสที่ติดไฟล์โปรแกรมมีนามสกุลเป็น .exe เช่นโปรแกรมที่ดาวน์โหลดมาจากอินเตอร์เน็ต โปรแกรมประเภทแชร์แวร์ (Shareware) เป็นต้น
- มาโครไวรัส (Macro Virus) คือ ไวรัสที่ติดไฟล์เอกสารต่าง ๆ ซึ่งมีความสามารถในการใส่คำสั่งมาโครสำหรับทำงานอัตโนมัติในไฟล์เอกสารด้วยโดยส่วนมากจะแพร่ระบาดในไฟล์ ไมโครซอฟท์เวิร์ด ไมโครซอฟท์เอ็กเซล เป็นต้น
- หนอน (Worm) คือ ไวรัสที่มีความสามารถในการทำลายระบบในเครื่องคอมพิวเตอร์สูงสุดในบรรดาไวรัสทั้งหมด สามารถกระจายตัวได้รวดเร็ว และแพร่กระจายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ไวรัสชนิดนี้ถ้าหากเพิ่มจำนวนมากขึ้นระดับการทำลายล้างก็จะยิ่งสูงขึ้น ราวกับหนอนที่ชอนไขไปในผลไม้จนผลไม้นั้นพรุนไม่มีชิ้นดี
- สปายแวร์ (Spyware) คือ โปรแกรมเล็ก ๆ ที่ถูกเขียนขึ้นมาสอดส่อง (สปาย) การใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ อาจจะเพื่อโฆษณาสินค้าต่าง ๆ สปายแวร์บางตัวก็สร้างความรำคาญเพราะจะเปิดหน้าต่างโฆษณาบ่อย ๆ แต่บางตัวร้ายกว่านั้น คือ ทำให้คุณใช้อินเตอร์เน็ทไม่ได้เลย ไม่ว่าจะไปเว็บไหน ก็จะโชว์หน้าต่างโฆษณา หรืออาจจะเป็นเวบประเภทลามกอนาจาร พร้อมกับป๊อปอัพหน้าต่างเป็นสิบ ๆ หน้าต่าง
แอนตี้ไวรัสที่เป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันก็ได้แก่
- AOL Active Virus Shield
- Avast!
- AVG
- Avira AntiVir
- AVZ
- BitDefender
- BullGuard
- CA Anti-Virus
- Clam AntiVirus
- ClamWin
- Comodo AntiVirus
- Dr. Web
- F-Prot
- F-Secure
- Fortinet FortiClient End Point Security
- G DATA Software
- Graugon AntiVirus
- Kaspersky Anti-Virus
- Microsoft Security Essentials
- ESET NOD32
- Norman
- Panda Antivirus
- Panda Cloud Antivirus (Beta)
- PC Tools AntiVirus
- Sophos Anti-Virus
- Symantec Norton AntiVirus/Norton 360
- Trend Micro Internet Security
- Vba32Antivirus
- Sunbelt Software VIPRE Antivirus + Antispyware
- VirusBuster
- ZoneAlarm Antivirus
ซึ่งแอนตี้ไวรัสแต่ล่ะตัวที่กล่าวมานั้น ก็จะมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกันในเรื่องของการป้องกัน ตรวจสอบ และทำลายไวรัส ซึ่งก็มีทั้งแบบให้ใช้ฟรีและแบบที่ต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์ แต่ดังที่เกริ่นไว้ในตอนแรกแล้วคือ ไม่มีแอนตี้ไวรัสรุ่นไหนจะป้องกันไวรัสได้อย่างสมบูรณ์แบบดังนั้นการที่เราจะเลือกแอนตี้ไวรัสยี่ห้อใดซักยี่ห้อหนึ่งมาติดตั้งก็ขึ้นกับผู้ใช้ว่าจะคุ้นเคยและเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตคนใดนั่นเอง
แต่ก็มีหลายครั้งที่ผู้ใช้งานคิดว่ามีแอนตี้ไวรัสเอาไว้หลาย ๆ ยี่ห้อไปเลยจะได้ป้องกันสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ซึ่งผมบอกได้เพียงคำเดียวว่า เป็นความคิดที่ผิด และไม่ควรจะกระทำเพราะจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณทำงานหนักมากจนความในการประมวลผลตกต่ำลงจนเกิดสภาวะที่เราเรียกกันว่า เครื่องอืด หรือ เครื่องทำงานช้า จนหลาย ๆ ท่านคิดว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดนไวรัสเข้าไปหรือมันถึงได้ช้าแบบนี้ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมันเกิดจากแอนตี้ไวรัสทำพิษเสียเอง
ถ้าจะถามว่าเพราะอะไรมันถึงได้ช้าลงทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้ไปโดนไวรัสซักหน่อย หรือว่าแอนตี้ไวรัสจะทำตัวเป็นไวรัสเสียเอง คำตอบคือ ใกล้เคียงครับ เพราะในคำนิยามของไวรัสคอมพิวเตอร์ที่ผมกล่าวไปแล้วการทำให้เครื่องช้าลงก็ถือว่าเป็นไวรัสได้เหมือนกัน แต่เราไม่นับว่ามันเป็นไวรัสเพราะโปรแกรมถูกเขียนขึ้นโดยไม่ได้มุ่งเน้นทำลายเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง ถ้าเราเปรียบคอมพิวเตอร์คือมนุษย์เราแล้ว อาการลักษณะนี้ก็คืออาการที่เรียกว่า “แพ้ยา” นั่นเอง เนื่องจากร่างกายไม่อาจทนรับความรุนแรงของยาได้จึงเกิดอาการลักษณะนี้ขึ้นมา
โปรแกรมแอนตี้ไวรัสทุกชนิดจะทำการจองเมมโมรี่(memory) เมื่อโปรแกรมยังคงทำงานก็จะยังคงยึดพื้นที่ส่วนนั้นเอาไว้ไม่ให้โปรแกรมอื่นเข้ามาใช้งานได้ ดูได้จากแผนภาพด้านล่าง
รูปภาพนี้แทนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสเปคเท่ากันทุกประการ รูปที่ 1 แทนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีแอนตี้ไวรัสหนึ่งชนิด ส่วนรูปที่ 2 แทนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีแอนตี้ไวรัสสองชนิด จากภาพสีน้ำเงินแทนเมมโมรี่ที่ถูกระบบปฏิบัติการจองไปใช้งานทันทีเมื่อเปิดเครื่อง สีแดงและสีเหลืองแทนเมมโมรี่ที่แอนตี้ไวรัสจองไปใช้งาน เมื่อเทียบกับเราะจะเห็นได้ว่ารูปที่หนึ่งมีพื้นที่ว่างของหน่วยความจำรอให้โปรแกรมอื่นเรียกใช้เหลืออยู่มากกว่าเครื่องที่สอง ดังนั้นเครื่องที่หนึ่งจึงทำงานได้เร็วกว่าเครื่องที่สอง
นอกจากนี้ระหว่างที่แอนตี้ไวรัสทำการแสกนฮาร์ดดิสอยู่นั้นก็ยังเรียกใช้ CPU ของตัวเครื่องมากขึ้นไปอีกหากเราเปิดใช้โปรแกรมอื่นในช่วงเวลานี้ หัวอ่านฮาร์ดดิสจะทำงานหนักขึ้นในการวิ่งหาข้อมูลบนฮาร์ดดิสระหว่างที่ทำการแสกน บางครั้งอาจเกิดอาการเครื่องค้างหรือหยุดการรับคำสั่งไปดื้อ ๆ หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็อาจทำให้ฮาร์ดดิสพังเสียหายได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้งานโปรแกรมอื่นใดในขณะที่โปรแกรมแอนตี้ไวรัสกำลังทำการสแกนจะเป็นการดีที่สุด
สุดท้ายนี้หากท่านจะถามว่า แอนตี้ตัวใดดีทุกสุดผมก็คงยืนยันว่าไม่มีแอนตี้ไวรัสตัวไหนจะป้องกันไวรัสได้หมดทุกชนิด เพราะไวรัสคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การอัพเดทแอนตี้ไวรัสที่ใช้อยู่ให้เป็นปัจจุบันเสมอ ๆ หลีกเลี่ยงการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่รู้จัก, ไม่กดดาวน์โหลดโปรแกรมที่มีการป็อบอัพมาให้โหลดโดยไม่อ่านดูให้ดีเสียก่อน, ไม่กดเข้าเว็บไซต์ที่ไม่รู้จักที่ถูกส่งมาทาง MSN ก็จะช่วยป้องกันการรุกรานของพวกไวรัสคอมพิวเตอร์ได้อีกทางหนี่ง