การเติบโตของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ทำให้ผู้คนรู้จักและใช้งานอี-บุ๊กหรือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
หากมีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนที่จอใหญ่พอจะอ่านหนังสือได้ อย่ารอช้า หาวิธีประหยัดให้ตัวเอง ด้วยการซื้อหนังสืออี-บุ๊ก เพราะถูกกว่าซื้อเป็นฉบับประมาณ 25-30% เชียวล่ะ
จากข้อมูลของเอไอเอส ระบุว่า ปัจจุบันมีลูกค้าของเอไอเอสใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 4 ล้านราย จากจำนวนกว่า 13 ล้านคนที่อยู่ในเครือข่ายเอไอเอส หรือประมาณ 14%
แน่นอนว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนย่อมต้องใช้อินเทอร์เน็ตหรือใช้งานดาต้าเป็นประจำ จึงเป็นที่มาของเอไอเอสบุ๊กสโตร์ (AIS Bookstore) แอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์สำหรับผู้ใช้ไอโฟนและไอแพด
เราต้องเริ่มด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการอี-บุ๊กมาไว้บนอุปกรณ์ของเราก่อน เช่น มีไอแพด หรือไอโฟน ก็เข้าไปที่แอพสโตร์ แล้วเลือกดาวน์โหลดของผู้ให้บริการที่เราต้องการใช้งานมาบนเครื่องของเรา ซึ่งจะมีทั้งของหนังสือฉบับนั้น ๆ เองและของสำนักพิมพ์ที่จัดทำเป็นร้านหนังสือออนไลน์ให้บริการทั้งจากนักเขียนชื่อดังและนักเขียนหน้าใหม่
ปัจจุบันที่เป็นรายใหญ่บนแอพสโตร์ก็คือ เอไอเอสบุ๊กสโตร์ เปรียบเหมือนเปิดร้านขายหนังสือขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์มีทั้งแมกกาซีน พ็อกเกตบุ๊กและหนังสือพิมพ์ฉบับออนไลน์
จากข้อมูลล่าสุดมีการซื้อขายหนังสือหรือดาวน์โหลดอี-บุ๊กจากเอไอเอสบุ๊กสโตร์แล้วมากกว่า 2 ล้านเล่ม เอไอเอสบอกว่า นิตยสารบางฉบับซื้อถูกกว่าซื้อเป็นเล่มได้สูงสุดถึง 60% ถ้าเป็นนิตยสารรายปักษ์ถ้าเราตกลงใจจะซื้อแล้ว จะได้รับหนังสือแบบอี-บุ๊กเดือนละ 2 เล่ม นิตยสารรายสัปดาห์เดือนละ 4 เล่ม
ขนาดหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ เรายังสามารถซื้อฉบับอี-บุ๊กได้จ่ายเดือนละ 29 บาท ถูกกว่าซื้อเป็นเล่มกว่าครึ่ง
แม้แต่หนังสือสำหรับคุณแม่บ้าน คุณผู้หญิงที่เคยเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็ก เช่น ขวัญเรือนและกุลสตรี ก็ยังมีฉบับอี-บุ๊ก ทันสมัยสุด ๆ
การจ่ายตังค์ก็ง่ายเรียกเก็บพร้อมค่าใช้งานโทรศัพท์ในทุกเดือน
จึงยืนยันถึงการเติบโตของอี-บุ๊กในบ้านเราได้อย่างดี
ส่วนหนังสือพิมพ์ หลายคนมักจะบ่นว่า หาซื้อไม่ค่อยได้ เพราะแผงหนังสืออยู่ไกลบ้าน หรือบางทีไปถึงร้านก็หมดก่อน หากฝนตกเด็กส่งหนังสือพิมพ์เบี้ยวก็อดอ่าน ในเอไอเอสบุ๊กสโตร์ก็มีหนังสือฉบับออนไลน์ หรือ อี-นิวส์เปเปอร์ (e-newpaper) ที่ให้บริการในตอนนี้เป็นหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึกและโลกวันนี้ หากซื้อแบบรายเดือนจะถูกกว่าซื้อที่แผงประมาณ 30-60%
อีกรายที่ไปเจอในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อเดือนที่แล้วก็คือ แมพ (mebmarket.com) ซึ่งใช้ชื่อบนแอพสโตร์ว่า meb: mobile E-Books ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของแมพ เล่าให้ฟังว่า ทางร้านเปิดร้านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเปิดกว้างรับงานเขียนของนักเขียนมือสมัครเล่น นักเขียนหน้าใหม่ด้วย
ถ้าเป็นนักอ่านหนอนหนังสือตัวใหญ่ มีจินตนาการกว้างไกล มีหนังสือเต็มบ้าน ก็ลองผันตัวเองมาเป็นนักเขียนบ้าง หาเงินค่าหนังสือคืน วิิธีที่จะให้งานเขียนของเราไปวางแผงอยู่บนร้านหนังสืออี-บุ๊ก เช่น แมพ ก็ต้องสมัครเป็นไรท์เตอร์หรือนักเขียนก่อนส่งผลงาน หากได้รับการพิจารณาจากสำนักพิมพ์ก็จะนำขึ้นไปวางขายบน แมพ โมบาย อี-บุ๊ก
แมพก็ยังมีบริการพิเศษสำหรับนักอ่าน เรียกว่า เซลเลอร์ โดยให้สมาชิกของแมพ นำลิงก์ของทางร้านไปแปะ หรือแชร์บนโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เราเป็นสมาชิก เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ หากมีการสั่งซื้อหนังสือผ่านลิงก์ที่เรานำไปแปะหรือแชร์เอาไว้ ก็จะได้รับส่วนแบ่งค่าขายจากทางร้านไป
สำหรับแมพนั้น ราคาของอี-บุ๊ก จะถูกกว่าซื้อเป็นเล่มประมาณ 30% ถ้าเป็นนักเขียนมีผลงานกับแมพก็จะได้รับส่วนแบ่งในฐานะนักเขียนตามที่ตกลงกันไว้
จุดเด่นของแมพ อยู่ที่วิธีการจ่ายเงิน นอกจากจ่ายจากบัตรเครดิตที่ให้ไว้บนแอพสโตร์แล้ว ยังจ่ายผ่านร้านเซเว่นฯได้ด้วย แต่ต้องใช้บริการผ่านเว็บไซต์ mebmarket.com เลือกหนังสือแล้ว ก็ไปร้านเซเว่นฯ จ่ายตังค์ ได้รหัสมายืนยันคำสั่งซื้อแล้วดาวน์โหลด
ในเร็ว ๆ นี้แมพจะให้บริการบนแอนดรอยด์ด้วย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสำนักพิมพ์ที่มีอี-บุ๊กให้บริการ เช่น ซี-เอ็ด โมบาย และซี-เอ็ดแอพพลิเคชั่น (se-ed mobile) ที่เป็นคลังหนังสือออนไลน์ขนาดใหญ่ ใช้งานได้ทั้งแอนดรอยด์และแอพสโตร์ ลองคลิกเข้าไปหารายละเอียดดูจาก http://m.se-ed.com
ปีนี้อี-บุ๊กในบ้านเราเริ่มมาแรง จากการเติบโตของแท็บเล็ต และมีแนวโน้มว่า เมื่อโครงการแท็บเล็ต ป.1 ถึงมือนักเรียนทั่วประเทศ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัวอย่างรวดเร็วจากความต้องการใช้งานคอนเทนต์
แต่ก็มีหลายกระแสแย้งว่า ผู้ค้าหนังสือไม่ค่อยชอบอี-บุ๊กเพราะจะทำให้ขายหนังสือเล่มไม่ได้ ก็อาจจะเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าความต้องการหนังสือเล่มก็ยังมีอยู่ เพราะหลายคนยังชื่นชอบที่จะสัมผัสกระดาษและเก็บหนังสือไว้เป็นเล่มบนชั้นหนังสือแทนการเก็บในฮาร์ดดิสก์
ข้อดีของอี-บุ๊กก็คือ ถ้าเป็นนักอ่านก็สะดวกไม่ต้องพกหนังสือหลายเล่มแบกให้หนักเวลาเดินทาง หากเราหยุดพักผ่อนหรือต้องเดินทางไปหลาย ๆ วัน สามารถดาวน์โหลดอี-บุ๊กติดตัวไปอ่านได้หลายเล่ม แค่พกแท็บเล็ตหรือเครื่องอ่านหนังสืออี-บุ๊กไปเครื่องเดียว ราคาก็ถูกกว่าซื้อหนังสือเล่ม ส่วนสำนักพิมพ์ก็ประหยัดพื้นที่จัดเก็บหนังสือ ช่วยลดต้นทุนค่ากระดาษ
ดีสำหรับผู้ขายและผู้อ่าน
ลองดาวน์โหลดมาอ่านกันก่อน แล้วจะรู้ว่าจะสะดวกจริง ๆ
ผู้เขียนเองในระยะหลัง ๆ อ่านอี-บุ๊กเป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นนิตยสารเพราะไม่อยากเก็บไว้รกบ้าน ส่วนพ็อกเกตบุ๊กก็ยังเลือกซื้อแบบเป็นเล่ม แล้วเก็บในห้องหนังสือ พอมากเข้าจนชั้นหนังสือทำท่าจะเอียงก็จะคัดแยกไปบริจาคให้โรงเรียนอีกต่อหนึ่ง
มีอุปกรณ์ไฮเทคอยู่ในมือแล้ว เอามาใช้ประโยชน์ให้คุ้ม ลองดูค่ะ.
ข้อมูลจาก เดลินิวส์