ถ้าหากพูดถึง ฮาร์เวิร์ดและเอ็มไอที คนในวงการศึกษาจะรู้ว่าคือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สองมหาวิทยาลัยร่วมกันเปิดโอกาสให้คนทั้งโลกเข้าเรียนออนไลน์ได้ฟรี แต่ไม่นับหน่วยกิตให้
ข่าวนี้น่าจะทำให้นักศึกษาทั่วโลกดีใจ และทั้งสองมหาวิทยาลัยประกาศข่าวนี้เมื่อวันพุธที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้เอง ด้วยการริเริ่มโครงการ เอ็ดเอกซ์ (edX) ซึ่งจะมีองค์การไม่ค้ากำไรมาช่วยบริหาร ซึ่งใช้เงินประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบพันล้านบาท
โครงการ เอ็ดเอกซ์นี้ นักศึกษาจะไม่มีการนับหน่วยกิตให้เมื่อเรียนจบวิชานั้น ไม่มีกระบวนการคัดเลือกนักศึกษา แต่มีการสอบและประเมินผลคะแนนให้ เมื่อจบแล้วจะมีใบประกาศนียบัตรให้ด้วยราคาที่เขาเรียกว่า ต่ำที่สุด สำหรับนักศึกษาที่มีความสามารถสอบผ่านในระดับต่าง ๆ ได้
อันที่จริงก่อนจะมาเป็นโครงการนี้ เอ็มไอทีได้มีการสร้างโครงการเรียนออนไลน์ ซึ่งเริ่มมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปรากฏ ว่ามีนักศึกษาสนใจเข้ามาลงทะเบียนเรียนถึง 120,000 คน แต่เข้ามาเรียนจนกระทั่งสอบกลางภาคได้แค่ 10,000 คนเท่านั้น
จะว่าไปแล้วโครงการเอ็ดเอกซ์ ก็มีคู่แข่งอยู่เหมือนกันที่จะพยายามสร้างการศึกษาออนไลน์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งเป็นการรวมตัวอีกกลุ่มมหาวิทยาลัยหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเช่นเดียวกันคือ ปริ้นสตัน แสตน ฟอร์ด มิชิแกน และ เพ็นซิลเวเนีย ซึ่งก็ได้สร้างโครงการ คอร์เซอรา (Coursera) ขึ้นซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์ ทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ 2 ท่าน โดยอีกท่านหนึ่งคือ แอนดรูว์ งอ เคยสอนวิชาทางออนไลน์ฟรี ให้นักศึกษาทั่วไปผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีนักศึกษาเข้าลงทะเบียนถึง 100,000 คน
นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการ ยูเดซิตี้ ซึ่งก็เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด และ คาน อะคาเดมี ซึ่งทั้งคู่บอกว่ามีคนโหลดวิดีโอเข้าเรียนประมาณ 3,100 คนฟรี ซึ่งมีหลากหลายวิชา
ทั้งเอ็มไอที และ ฮาร์เวิร์ด ก็หวังที่จะร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ มากกว่านี้ ที่จะขยายโครงการเอ็ดเอกซ์ ออกไปให้กว้างขวางมากขึ้น
ท่านศาสตราจารย์ดรูว์ ฟอสท์ อธิการ บดีมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้กล่าวว่า “ทั้ง ฮาร์เวิร์ด และเอ็มไอที จะใช้เทคโนโลยีและงานวิจัยนี้ เพื่อนำทิศทางการศึกษาออนไลน์เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา เพื่อนคณาจารย์และประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก”
ส่วนประเทศไทย มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนก็ได้ริเริ่มกันไปบ้างแล้ว ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างคุณภาพและมาตรฐานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไทยอยู่ ผมเข้าใจว่าถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานทางไอซีที เช่น 3จี และ4จี รองรับที่มีคุณภาพมากขึ้น ก็จะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์ทั้งเรียนสนุกและมีคุณภาพได้มากขึ้นอีกและจะเป็นที่ต้องการของสังคมไทยในอนาคต.
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
boonmark@stamford.edu