จะเห็นได้ว่าเมืองไทยเราแบ่งตลาดความต้องการแรงงานด้านไอซีทีคร่าว ๆ ไว้มากมายและหลายหลาก ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าการผลิตบัณฑิตด้านไอซีทีให้ตอบสนองความต้องการใช้งานของ ภาคอุตสาหกรรมนั้น จึงต้องการความหลากหลายของหลักสูตร ปัจจุบันเมืองไทยก็แบ่งย่อยไปมากมายเกินกว่ามาตรฐานโลกซึ่งกำหนดไว้เพียง ห้ากลุ่มหลักคือ
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผลิตวิศวกรออกแบบ และสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องเชื่อมต่อระหว่างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เครือข่ายและข้อมูลต่าง ๆ ตามขั้นตอนทางวิศวกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งตัวระบบคอมพิวเตอร์และต้นทุนการผลิต
วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ผลิตวิศวกรออกแบบและสร้างซอฟต์แวร์ ตามขั้นตอนทางวิศวกรรม เพื่อให้ได้ซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพและความถูกต้องปลอดภัยรวมถึงเหมาะสมในด้านต้นทุนการผลิต
วิทยาการคอมพิวเตอร์ จะผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ที่สามารถวิจัยพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่งหรือ ทุกส่วนของคอมพิวเตอร์ และการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ไอที หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศ จะผลิต นักเทคโนโลยี หรือผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ที่สามารถประยุกต์ใช้งานสารสนเทศหรือข้อมูลให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ ธุรกิจ ในองค์กรต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนระบบสารสนเทศ เป็นสาขาสุดท้าย จะผลิตนักออกแบบและวิเคราะห์ระบบสารสนเทศ หรือระบบการเชื่อมต่อของข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ในองค์กรเฉพาะด้าน เช่น ด้านธุรกิจขนส่ง ด้านการบริหารธุรกิจ ด้านภูมิศาสตร์ ด้านการสื่อสาร ด้านสาธารณสุข เป็นต้น (สาขานี้ใกล้เคียงกับ วิศวกรระบบ หรือ system engineering ที่เน้นระบบสารสนเทศ)
แต่เมืองไทยยังมีหลักสูตรทั้งแยกย่อยลงไปเฉพาะทางเช่น ระบบสารสนเทศสำหรับการบริหาร (MIS) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ไปจนหลักสูตรผสมผสาน เช่น การตลาดไอที เรื่องไปจนถึง ศิลปะ หรือ การท่องเที่ยว หรือ วิศวกรรมสื่อสารและสารสนเทศ ชีวสารสนเทศ ฯลฯ ซึ่งหากจะนับรวมเป็นบัณฑิตไอซีทีด้วยก็คงต้องมีการระบุลักษณะของบัณฑิตกันให้ชัดเจน และยกเครื่องหลักสูตร รายวิชาพื้นฐาน เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีความสามารถตรงกับฉลากที่แปะไว้ โดยเน้นให้สอดคล้องกับวุฒิที่ตรงกับห้าด้านที่สากลยอมรับกัน เพื่อกันปัญหาเรื่องมาตรฐานของบัณฑิตเมื่อต้องมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกับกลุ่มประเทศอาเซียน
การเน้นลักษณะของบัณฑิตที่เป็นผล ลัพธ์ของหลักสูตรให้มีลักษณะที่ชัดเจนตอบสนอง ความต้องการของอุตสาหกรรมไอซีทีในส่วนใดส่วนหนึ่งได้มีความจำเป็นมาก เพราะซึ่งในปัจจุบันด้วยความหลากหลายของอุตสาหกรรมไอซีทีดังที่กล่าวมา คำว่าบัณฑิตด้านไอซีทีสามารถมองได้ว่าเหมือนกับการเรียกบัณฑิตว่าสายศิลป์ หรือสายวิทย์ หรือกล่าวได้ว่ายังกว้างไปมาก ดังนั้นการ ออกแบบหลักสูตรเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดของตลาดงานไอซีที ในระยะเวลาสี่ปี่ คงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากการผลิตบัณฑิตของอุดมศึกษาต้องเน้นคุณลักษณะที่ สำคัญด้านอื่น ๆ ที่หาไม่ได้จากโรงเรียนสอนพิเศษด้านไอที เช่น คุณธรรม จริยธรรมและสังคม ควบคู่กับความพร้อมทางวิชาการและสติปัญญาที่อุตสาหกรรมไอซีทีต้องการ
ถึงเวลาที่อุดมศึกษาคงต้องติดฉลากให้บัณฑิตให้ชัดเจนด้านคุณสมบัติ ส่วนอุตสาหกรรมก็คงต้องเลือกหาบัณฑิตที่ตรงกับงาน รวมถึงรัฐคงต้องมีการสำรวจเชิงลึกถึงภาพของอุตสาหกรรมไอซีทีเพื่อวิเคราะห์ ทิศทางการแก้ปัญหาแรงงานด้านไอที ไม่แน่ว่าอาจจะพบว่า ในหนึ่งปีเราผลิตบัณฑิตด้านซอฟต์แวร์เพียงห้าร้อยคนในขณะที่อุตสาหกรรมรับได้ห้าพันคน แต่ผลิตฝ่ายรับเรื่องและแก้ปัญหาไอทีมากกว่าสี่หมื่นคนในขณะที่อุตสาหกรรม ต้องการเพียงยี่สิบห้าคนก็เป็นได้.
ผศ.ดร.พิษณุ คนองชัยยศ
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย