FTTH ย่อมาจากคำว่าไฟเบอร์ทูเดอะโฮม ( Fiber to the Home) หมายถึงการนำสายใยแก้วนำแสง ส่งตรงถึงบ้านของลูกค้า (ปกติแล้วสายประเภทนี้ มีใช้กันอยู่แล้วภายในองค์กร หรือ ระหว่างองค์กร กับ องค์กร ) ซึ่งคุณภาพ และความเร็วในการ รับ-ส่ง สัญญาณ สูงกว่าสายโทรศัพท์ธรรมดาที่เราใช้กันในระบบเอดีเอสแอล หลายร้อย-พันเท่า ซึ่งตัวเลขความเร็วที่ทางผู้ผลิตสายกล่าวถึงนั้น สามารถขึ้นได้สูงเป็นกิกะบิตต่อวินาที (Gbps) กันเลยทีเดียว
ซึ่ง FTTH นั้นความจริงชื่อกลางของมันคือ FTTx คำว่า x นั้นเป็นตัวย่อที่บ่งบอกถึงสถานที่ ที่สายใยแก้วนั้นไปถึง หากไปถึงบ้าน ก็จะเรียกว่า FTTH (Home) ไปถึงตึกจะเรียกว่า FTTB (Building) ไปถึงสำนักงานจะเรียกว่า FTTO (Office) เทคโนโลยี FTTx ถูกใช้งานในหลากหลายประเทศแล้วไม่ว่าจะเป็น อเมริกา เกาหลี จีน และที่ถูกใช้งานอย่างมากที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งราคาเมื่อเทียบกับ ADSL แล้วมีราคาแพงกว่าประมาณ 30% (ในปัจจุบัน) สำหรับในประเทศไทย เทคโนโลยีนี้มีเข้ามา 3-4 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการใช้งานอย่างจริงจัง แต่ว่ามีการทดสอบกันอย่างจริงจังในบางพื้นที่แล้ว
การใช้งานระบบ FTTx นั้นเราจะไม่สามารถใช้งานสายโทรศัพท์ปกติเหมือนเอดีเอสแอล เพราะต้องส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสงดังนั้นหากจะใช้งานจริงจำเป็นต้องมีการวางระบบโครงข่ายใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยเริ่มตั้งปัจจัยพื้นฐานของอุปกรณ์ตั้งแต่ สายนำสัญญาณ รวมไปถึงอุปกรณ์ รับ-ส่ง สัญญาณนั้นต้องใช้ใหม่ทั้งหมดเช่นกัน
ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ในทุกวันนี้นับวันมีความเร็วสูงขึ้นทุกวัน ผู้เสพข่าว หรือ ข้อมูล ความคาดหวังย่อมต้องสูงขึ้นไปตามลำดับด้วย โดยจะมานำเสนอเพียงแค่ ข้อความอย่างเดียว (Plain Text) หรือ รูปภาพ (Graphic) กันเหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว ตั้งแต่เรามีเอดีเอสแอล (ADSL) จะเห็นได้ว่า มีเว็บไซต์ผู้ให้บริการด้านการนำเสนอสื่อทางภาพและเสียง ออกมามากมาย อาทิ ยูทูบ (Youtube) เฟซบุ๊ก (Facebook) และอื่น ๆ ที่ให้ผู้ใช้งานทั่วไป สามารถผลิตเนื้อหาเองได้ง่าย ๆ การดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมาก สามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในส่วนมุมมองของผู้ผลิตเนื้อหา เราต้องทำเนื้อหาให้ดียิ่งขึ้นไป มีคุณภาพมากขึ้น โดยอาจเน้นไปที่คุณภาพการตัดต่อ ความคมชัดของภาพสูงแบบเฮชดี เพราะเดี๋ยวนี้ลูกค้าไม่ได้เสพเนื้อหาจากเราเพียงฝ่ายเดียวแล้ว ลูกค้ายังสามารถผลิตเนื้อหาเอง และส่งหาซึ่งกันและกันได้อีกด้วย แต่ส่วนมากอัดจากสมาร์ทโฟน ซึ่งการแข่งขันก็ต้องสูงขึ้นไปตามลำดับ
หากใช้เทคโนโลยี FTTx แล้ว มันจะไม่ใช่เพียงสามารถแค่ดูคลิปวิดีโอสั้น ๆ 5-10 นาทีบนยูทูบอีกต่อไปแล้ว แต่จะสามารถดูรายการโทรทัศน์ผ่านโทรทัศน์จริง ๆ (ไม่ได้ผ่านจอคอมพิวเตอร์) ดูกันออนไลน์ 24 ชั่วโมง โดยไม่มีติดขัด นอกจากนี้ ยังมีระบบทีวีออนดีมานด์ ให้ผู้ชมสามารถเลือกรับรายการโทรทัศน์ที่ตัวเองต้องการดูได้อีกด้วย
ที่มา:http://www.dailynews.co.th/